การเลี้ยงสัตว์ในกรุงเทพฯ จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในปี 2569 นี้! ที่คนเลี้ยงสัตว์ต้องรู้กฎหมายใหม่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ในกรุงเทพมหานครจะเริ่มมีผลบังคับใช้ โดยมีการกำหนดข้อบังคับที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของคุณปลอดภัยและไม่เกิดปัญหากับกฎหมายใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ เรามาเตรียมตัวให้พร้อมก่อนกฎหมายใหม่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2569 กันดีกว่า
📌 ทำไมต้องจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง?
การจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่จำเป็นตามกฎหมายใหม่ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2569 โดยจะช่วยให้การควบคุมและดูแลสัตว์เลี้ยงเป็นไปได้อย่างมีระเบียบ และช่วยในการติดตามหากสัตว์เลี้ยงหายไปหรือลักลอบปล่อยสัตว์ออกไปในที่สาธารณะเพื่อให้ผู้เลี้ยงมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงและช่วยลดปริมาณสัตว์จรจัด
ขั้นตอนการจดทะเบียนและฝังไมโครชิป
เจ้าของสัตว์เลี้ยงในกรุงเทพมหานครจะต้องดำเนินการจดทะเบียนและฝังไมโครชิปในสัตว์ของตนภายในระยะเวลา 120 วันหลังจากสัตว์เลี้ยงเกิด หรือภายใน 30 วันหลังจากนำสัตว์เลี้ยงเข้ามาเลี้ยงในพื้นที่กรุงเทพฯ
ขั้นตอนที่ 1: การเตรียมเอกสาร
ก่อนที่จะไปจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงที่คลินิกสัตวแพทย์หรือสำนักงานเขต เจ้าของสัตว์ต้องเตรียมเอกสารสำคัญ ดังนี้:
- บัตรประชาชนของเจ้าของสัตว์เลี้ยง
- ทะเบียนบ้านที่สัตว์เลี้ยงจะอาศัยอยู่
- ใบรับรองการฉีดวัคซีน (ถ้ามี)
- ใบรับรองการทำหมัน (ถ้ามี)
- หนังสือยินยอมจากเจ้าของบ้าน (กรณีเป็นผู้เช่า)
- ใบรับรอง (คสส. 1)
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน) (ถ้ามี)
ขั้นตอนที่ 2: การจดทะเบียนและฝังไมโครชิป
ไปที่คลินิกสัตวแพทย์ที่ได้รับอนุญาตจากกรุงเทพฯ เพื่อทำการจดทะเบียนและฝังไมโครชิปให้กับสัตว์เลี้ยงของคุณ ไมโครชิปจะช่วยในการติดตามสัตว์เลี้ยงของคุณและช่วยลดปัญหาการสูญหาย
คลินิกสัตวแพทย์ของ กทม. ที่ให้บริการฝังไมโครชิปฟรี
กรุงเทพมหานครมีคลินิกสัตวแพทย์ 8 แห่งที่ให้บริการฝังไมโครชิปฟรีสำหรับสุนัขและแมว โดยวางแผนและควรโทรสอบถามล่วงหน้าเพื่อจองคิวและตรวจสอบเอกสารที่ต้องเตรียมเพื่อไม่เสียเวลาในการจดทะเบียนและฝังไมโครชิป:
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 1 สีพระยา (บางรัก)
โทรสอบถามเบอร์ 0 2236 4055 ต่อ 213
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 2 มีนบุรี
โทรสอบถามเบอร์ 0 2914 5822
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 3 วัดธาตุทอง (วัฒนา)
โทรสอบถามเบอร์ 0 2392 9278
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 4 บางเขน (จตุจักร)
โทรสอบถามเบอร์ 0 2579 1342
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 5 วัดหงส์รัตนาราม (บางกอกใหญ่)
โทรสอบถามเบอร์. 0 2472 5895 ต่อ 109
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 6 ช่วงนุชเนตร (จอมทอง)
โทรสอบถามเบอร์ 0 2476 6493 ต่อ 1104
- คลินิกสัตวแพทย์ กทม. 7 บางกอกน้อย
โทรสอบถามเบอร์ 0 2411 2432
- กลุ่มควบคุมโรคพิษสุนัขบ้า (ดินแดง)
โทรสอบถามเบอร์ 0 2245 3311
คลินิกข้างต้นยังมีบริการการฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าและการทำหมันด้วย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ฟรี
ขั้นตอนที่ 3: รับหมายเลขทะเบียน
เมื่อดำเนินการเสร็จสิ้น เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะได้รับหมายเลขทะเบียนและข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงของท่านเพียงเท่านี้การจดทะเบียนและฝังไมโครชิปของสัตว์เลี้ยงก็เสร็จเรียบร้อย
ข้อจำกัดในการเลี้ยงสัตว์ตามขนาดพื้นที่
กฎหมายใหม่นี้ยังได้มีการกำหนดข้อบังคับเกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ตามขนาดพื้นที่ที่อยู่อาศัย ซึ่งจะมีผลต่อจำนวนสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของสามารถเลี้ยงได้ในแต่ละพื้นที่ เช่น:
- หากคุณมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ตารางวา คุณสามารถเลี้ยงสัตว์ได้ไม่เกิน 2 ตัว
- หากพื้นที่ไม่เกิน 50 ตารางวา คุณสามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 3 ตัว
- หากพื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางวา คุณสามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 4 ตัว
- หากมีพื้นที่เกิน 100 ตารางวา คุณสามารถเลี้ยงได้ไม่เกิน 6 ตัว
การจำกัดจำนวนสัตว์เลี้ยงนี้จะช่วยควบคุมปัญหาสัตว์จรจัดและการเกิดโรคจากสัตว์ในพื้นที่เมืองใหญ่และป้องกันการมีปัญหาในพื้นที่ชุมชนนั่นเอง
การเลือกคลินิกสัตวแพทย์สำหรับการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยง (ที่ไม่ใช่ของรัฐบาล)
คลินิกสัตวแพทย์ที่กรุงเทพมหานครมีหลายแห่งที่ได้รับอนุญาตจากทางกรุงเทพมหานคร ให้บริการการจดทะเบียนและฝังไมโครชิป โดยเจ้าของสัตว์เลี้ยงสามารถเลือกคลินิกใกล้บ้าน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากสำนักงานเขตโปรดเลือกคลินิกที่ได้รับอนุญาตจากทางกรุงเทพมหานครเท่านั้น
บทลงโทษตามกฎหมายใหม่
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์ พ.ศ. 2567
ข้อบัญญัตินี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2569 เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญดังนี้:
- การจดทะเบียนและฝังไมโครชิป: เจ้าของสุนัขและแมวต้องนำสัตว์ไปจดทะเบียน ออกบัตรประจำตัว และฝังไมโครชิปภายใน 120 วันนับแต่วันที่สัตว์เกิด หรือภายใน 30 วันนับแต่วันที่นำสัตว์มาเลี้ยงในเขตกรุงเทพมหานคร
- การดูแลสัตว์เลี้ยง: เจ้าของต้องดูแลสัตว์ให้อยู่ในสภาพที่ดี ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนต่อผู้อื่น รวมถึงการไม่ปล่อยสัตว์ออกไปในที่สาธารณะโดยไม่ได้ควบคุม
พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
- กฎหมายนี้กำหนดว่า การทารุณกรรมสัตว์ เช่น การทำร้ายหรือปล่อยปละละเลยสัตว์เลี้ยง มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
🎯 สรุป
การเตรียมตัวให้พร้อมก่อนกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ในปี 2569 เป็นสิ่งที่สำคัญมาก สำหรับเจ้าของสัตว์เลี้ยง การจดทะเบียนสัตว์และการฝังไมโครชิปจะช่วยให้เจ้าของสามารถดูแลสัตว์เลี้ยงได้ดีขึ้น และไม่ต้องเผชิญกับบทลงโทษจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ ในขณะที่ช่วยลดปัญหาสัตว์จรจัดในกรุงเทพฯ และสร้างสังคมที่มีความรับผิดชอบในการดูแลสัตว์เลี้ยง
หากคุณเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยง อย่าลืมเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายใหม่ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2569 นะครับ!
*กฎหมายและข้อบังคับใหม่ที่เริ่มมีผลในวันที่ 10 มกราคม 2569 จะ ไม่มีผลย้อนหลัง หมายความว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงจะไม่ถูกลงโทษย้อนหลัง
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
“ห้องน้ำแมวอันตรายไหม” แชร์ข้อควรรู้ก่อนซื้อห้องน้ำแมวอัตโนมัติ